พัฒนาการทางสังคม

               “เราสามารถจินตนาการถึงภาพของการสรรสร้างสังคมของผู้ใหญ่ที่มีการสร้างตัวต่อเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมของเด็ก ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของสังคมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ   ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเป็นขั้นตอนแรกที่นำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม  คงดีไม่น้อยหากสังคมเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่เราไม่สามารถสั่งการให้เป็นเช่นนั้นได้ สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ถ้าการสรรสร้างเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จะเป็นสิ่งที่ดีและยั่งยืนกว่า แต่หากไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติก็จะเป็นสิ่งจอมปลอมและล้มเหลวได้อย่างง่ายดาย”

 (The Child, Society and the World หน้า 24 บทที่ 3)

                เป็นที่น่าแปลกใจที่การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบบที่ไม่เน้นในด้านการพัฒนาทางสังคม แต่ตัวมอนเตสซอรีเองกลับเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบการเรียนการสอนของเธอ การที่เธอเน้นให้เด็กมีความเป็นอิสระในการทำงานและพัฒนาความมีสมาธิ ไม่ได้หมายความว่าเธอละเลยและไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทางสังคม

                ในทางตรงกันข้าม เธอกลับเห็นว่าการที่ให้เด็กได้ทำงานอย่างอิสระนั้น ทำให้เด็กสามารถแสดงออกถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยธรรมชาติ เธอเห็นว่าระเบียบวินัยที่แท้จริงและการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่มาจากความต้องการภายใน ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับจิตใจกันได้ 

                เด็กๆจึงมีระเบียบและวินัยทางสังคม ซึ่งเป็นระเบียบวินัยภายใต้ความสนใจที่แตกต่างกัน

                “เป็นระเบียบวินัยที่แตกต่างจากระเบียบวินัยของทหาร ที่มีการบังคับด้วยกฎเกณฑ์ ซึ่งหมายถึงว่าต้องปฏิบัติในสิ่งเดียวกันทั้งหมดในเวลาเดียวกัน แต่นี่คือวินัยทางสังคม ที่สามารถทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว”

 (The Child, Society and the World หน้า 24 บทที่ 3)

                การที่เด็กเล็กๆแสดงออกให้เห็นถึงลักษณะของสังคมโดยธรรมชาติ ทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจและตระหนักว่านี่อาจเป็นกุญแจในการปรับเปลี่ยนของสังคมด้วยตัวมันเอง  เธอกลายเป็นนักพูดเกี่ยวกับสิทธิของเด็กและความสำคัญของอิสรภาพในระบบการศึกษา

                การศึกษาจะต้องเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน และปล่อยให้เด็กแต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง ไม่เพียงแต่ในช่วงปฐมวัยเท่านั้น แต่ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการพัฒนามีสองสิ่งที่จำเป็นคือ :  พัฒนาการของแต่ละบุคคล และการมีส่วนร่วมของแต่ละบุคคลในสังคมอย่างแท้จริง พัฒนาการและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเข้ากับสังคม จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละขั้นระหว่างช่วงวัยเด็ก แต่มีหลักการประการหนึ่งที่จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดทุกระยะนั่นก็คือ : เด็กจะต้องได้รับการเปิดโอกาสให้ได้รับประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา

               “ชีวิตของเด็กในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตในสังคมนั้น ตลอดระยะเวลาของการเจริญเติบโต จะมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ “

(Education and Peace หน้า 56 บทที่ 7)